Month: มกราคม 2023

ทรงเอื้อมลงมา

ในโพสต์ล่าสุด บอนนี่ เกรย์ผู้เขียนบล็อกเกอร์เล่าถึงช่วงเวลาที่ความเศร้าอย่างท่วมท้นเริ่มคืบคลานเข้ามาในใจของเธอ “โดยไม่มีอะไรเตือน” เธอกล่าว “ในช่วงที่ชีวิตของฉันมีความสุขที่สุด...จู่ๆฉันก็เริ่มประสบกับความตื่นกลัวเสียขวัญและภาวะซึมเศร้าอย่างฉับพลัน” เกรย์พยายามหาวิธีต่างๆที่จะจัดการกับความเจ็บปวดของเธอ แต่ไม่ช้าเธอก็รู้ตัวว่าไม่เข้มแข็งพอที่จะรับมือกับมันเพียงลำพัง “ฉันไม่ต้องการให้ใครสงสัยเรื่องความเชื่อของฉัน ฉันจึงเก็บเงียบและอธิษฐานขอให้อาการซึมเศร้าของฉันหมดไป แต่พระเจ้าทรงต้องการรักษาเรา ไม่ใช่ทำให้เราอับอายหรือให้เราซ่อนตัวจากความเจ็บปวด” เกรย์ได้พบการเยียวยารักษาภายใต้การทรงสถิตของพระองค์ซึ่งปลอบโยนจิตใจ พระองค์ทรงเป็นสมอที่ยึดเธอไว้ท่ามกลางคลื่นลมที่ถาโถม

เมื่อเราตกต่ำและเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง พระเจ้าทรงอยู่ที่นั่นด้วยและจะทรงค้ำจุนเราด้วยเช่นกัน ในสดุดี 18 ดาวิดสรรเสริญพระเจ้าที่ทรงช่วยท่านให้พ้นจากความตกต่ำหลังจากเกือบพ่ายแพ้ต่อศัตรู ท่านประกาศว่า “[พระเจ้า] ทรงเอื้อมมาจากที่สูงทรงจับข้าพเจ้า พระองค์ทรงดึงข้าพเจ้าออกมาจากน้ำอันมากหลาย” (ข้อ 16) แม้ในช่วงเวลาที่ดูเหมือนความสิ้นหวังจะกลืนกินเราราวกับคลื่นที่ถาโถมในมหาสมุทร แต่พระเจ้าทรงรักเรามากจนกระทั่งทรงยื่นพระหัตถ์ออกมาช่วยเหลือเรา เพื่อนำเราไปสู่ ​​“ที่กว้างใหญ่” แห่งความสงบและความปลอดภัย (ข้อ 19) ให้เรามองดูพระองค์ผู้ทรงเป็นที่ลี้ภัยของเราในยามที่เรารู้สึกท่วมท้นไปด้วยอุปสรรคต่างๆของชีวิต

กลิ่นกาแฟ

ผมนั่งอยู่บนเก้าอี้ในเช้าวันหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนตอนที่ลูกคนสุดท้องลงมาข้างล่าง เธอจับผมนั่งตัวตรงแล้วกระโดดขึ้นนั่งบนตัก ผมกอดเธอแน่นและจูบที่ศีรษะของเธออย่างอ่อนโยนในแบบของพ่อ เธอร้องเสียงแหลมด้วยความดีใจ แต่แล้วเธอก็ขมวดคิ้ว ย่นจมูก แล้วมองที่แก้วกาแฟของผมอย่างตำหนิ “พ่อคะ” เธอพูดอย่างขึงขังว่า “หนูรักพ่อ และชอบพ่อ แต่หนูไม่ชอบกลิ่นของพ่อ”

ลูกสาวผมคงไม่รู้เรื่องนี้ แต่เธอพูดความจริงและด้วยใจรัก เธอไม่ต้องการทำร้ายความรู้สึกของผม แต่เธอรู้สึกถูกกระตุ้นให้บอกบางอย่าง และบางครั้งเราจำเป็นต้องทำเช่นนั้นในความสัมพันธ์ของเรา

ในเอเฟซัสบทที่ 4 เปาโลเน้นถึงการที่เรามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำลังพูดความจริงในเรื่องยากๆ “จงมีใจถ่อมลงทุกอย่าง และใจอ่อนสุภาพอดทนนาน และอดกลั้นต่อกันและกันด้วยความรัก” (ข้อ 2) ความถ่อมใจ ความอ่อนสุภาพและความอดทนนั้นช่วยกำหนดรากฐานความสัมพันธ์ของเรา การปลูกฝังคุณลักษณะเหล่านี้ตามที่พระเจ้าทรงสอนจะช่วยให้เรา “[พูด] ความจริงด้วยใจรัก” (ข้อ 15) และพยายามสื่อสาร “คำที่ดีและเป็นประโยชน์ให้เหมาะสมกับความต้องการ เพื่อจะได้เป็นคุณแก่คนที่ได้ยินได้ฟัง” (ข้อ 29)

ไม่มีใครชอบเผชิญหน้ากับจุดอ่อนและจุดบอด แต่เมื่อมีบางอย่างเกี่ยวกับตัวเรา “ส่งกลิ่น” ออกมา พระเจ้าจะทรงใช้เพื่อนผู้สัตย์ซื่อที่จะพูดกับชีวิตของเราด้วยใจเมตตา ด้วยความจริง ด้วยใจถ่อมและใจอ่อนสุภาพ

รักเหมือนประกายเพลิง

กวี จิตรกรและผู้พิมพ์ภาพ วิลเลี่ยม เบล็กมีความสุขในชีวิตแต่งงาน 45 ปีกับแคทเธอรีนภรรยา นับจากวันแต่งงานจนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1827 พวกเขาทำงานเคียงข้างกัน แคทเธอรีนเติมสีให้กับภาพร่างของวิลเลี่ยม และการอุทิศตัวต่อกันของพวกเขานั้นยืนหยัดผ่านช่วงปีที่ยากไร้และอุปสรรคอื่นๆ แม้ในสัปดาห์ท้ายๆ ที่สุขภาพของเขาอ่อนแอ เบล็กก็ยังคงทำงานศิลปะ และภาพร่างชิ้นสุดท้ายของเขาคือใบหน้าของภรรยา สี่ปีต่อมาแคทเธอรีนเสียชีวิตโดยที่กำดินสอของสามีไว้ในมือ

ความรักที่มีชีวิตชีวาของครอบครัวเบล็กสะท้อนถึงความรักที่พบในเพลงซาโลมอน และแม้ว่าการพรรณนาความรักของพระธรรมเล่มนี้มีความหมายถึงชีวิตแต่งงาน แต่ผู้เชื่อพระเยซูในยุคแรกก็เชื่อเช่นกันว่านี่คือการบอกถึงความรักที่ไม่มีวันมอดดับลงของพระเยซูต่อทุกคนที่ติดตามพระองค์ บทเพลงนี้พรรณนาถึงความรักที่ “เข้มแข็งอย่างความตาย” ซึ่งเป็นคำเปรียบเปรยที่พิเศษ เนื่องจากความตายนั้นคือความเป็นจริงสุดท้ายและไม่อาจหลีกเลี่ยงเท่าที่มนุษย์จะเคยรู้จัก (8:6) ความรักอันแรงกล้านี้ “ก็คือประกายเพลิง คือประกายเพลิงที่แสนรุนแรง” (ข้อ 6) และไม่เหมือนกับเปลวไฟที่เราคุ้นเคย ประกายเพลิงนี้ไม่อาจดับได้แม้โดยน้ำที่ไหลท่วมบ่า บทเพลงนี้ยืนยันว่า “น้ำมากหลายไม่อาจดับความรักให้มอดเสียได้” (ข้อ 7)

ในหมู่พวกเรามีใครบ้างที่ไม่ปรารถนาความรักแท้ บทเพลงนี้เตือนใจเราว่าเมื่อใดก็ตามที่เราพบความรักที่แท้จริง พระเจ้าทรงเป็นแหล่งกำเนิดสูงสุดของความรักนั้น และในพระเยซูเราแต่ละคนสามารถรู้จักความรักอันลึกซึ้งและไม่มีวันตายได้ คือความรักที่เหมือนประกายเพลิงที่แสนรุนแรง

ฝ่ายเราบอกท่านว่า

“แม่รู้ว่าพวกเขาพูดอะไรกัน แต่แม่กำลังบอกลูกว่า...” ตอนเป็นเด็ก ผมได้ยินแม่พูดคำนั้นเป็นพันครั้ง เรื่องมักเกิดจากการกดดันของคนรอบข้าง แม่พยายามสอนให้ผมไม่ต้องทำตามคนหมู่มาก ผมไม่ใช่เด็กอีกแล้ว แต่ความคิดของคนหมู่มากก็ยังคงแข็งแกร่ง ตัวอย่างหนึ่งในปัจจุบันคือวลีนี้ “จงอยู่ท่ามกลางคนที่คิดบวกเท่านั้น” แม้วลีนั้นมักจะได้ยินกันโดยทั่วไป แต่คำถามที่เราต้องถามคือ “นั่นเป็นเหมือนพระคริสต์ไหม”

“ฝ่ายเราบอกท่านว่า...” พระเยซูทรงใช้ประโยคนำนี้หลายครั้งในมัทธิวบทที่ 5 พระองค์ทรงทราบดีว่าโลกกำลังบอกอะไรกับเราอยู่ แต่ความปรารถนาของพระองค์คือให้เราดำเนินชีวิตที่แตกต่าง ในกรณีนี้พระองค์ตรัสว่า “จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเผื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน” (ข้อ 44) ต่อมาในพันธสัญญาใหม่ อัครทูตเปาโลใช้คำนั้นเพื่ออธิบายให้เข้าใจว่าหมายถึงใคร คือ ตัวเรา นั่นเองใน “ขณะที่เรายังเป็นศัตรูต่อพระเจ้า” (รม.5:10) ช่างห่างไกลจากคำกล่าวที่ว่า “ทำตามที่ฉันบอก ไม่ใช่ตามที่ฉันทำ” พระเยซูทรงสนับสนุนคำตรัสของพระองค์ด้วยการกระทำ พระองค์ทรงรักเราและประทานชีวิตของพระองค์เพื่อเรา

จะเกิดอะไรขึ้นหากพระคริสต์ทรงต้อนรับเฉพาะ “คนคิดบวก” เท่านั้น แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเราล่ะ ขอบคุณพระเจ้าที่ความรักของพระองค์ไม่ได้ทรงเลือกคนที่น่านับถือ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก และโดยพระกำลังของพระองค์ เราก็ได้รับการทรงเรียกให้ทำเช่นเดียวกัน

ปัญหาที่ใจ

“เห็นนั่นไหมทิม” เพื่อนของผมซึ่งเป็นศิษยาภิบาลชาวกาน่าสาดไฟฉายไปยังวัตถุแกะสลักที่พิงข้างกระท่อมดิน เขาพูดเบาๆว่า “นั่นคือรูปเคารพของหมู่บ้าน” ศิษยาภิบาลแซมเดินทางเข้าป่าเพื่อแบ่งปันพระคัมภีร์ในหมู่บ้านห่างไกลแห่งนี้ทุกเย็นวันอังคาร

ในเอเสเคียล เราได้เห็นว่าการบูชารูปเคารพสร้างปัญหาแก่คนยูดาห์อย่างไร เมื่อผู้นำของเยรูซาเล็มมาพบผู้เผยพระวจนะเอเสเคียล พระเจ้าตรัสกับท่านว่า “คนเหล่านี้ได้ยึดเอารูปเคารพของเขาไว้ในใจ” (14:3) พระเจ้าไม่เพียงแต่เตือนพวกเขาถึงรูปเคารพที่แกะสลักจากไม้และหินเท่านั้น พระองค์ทรงแสดงให้พวกเขาเห็นว่าการบูชารูปเคารพเป็นปัญหาที่ใจ และเราทุกคนต่อสู้กับสิ่งนี้

อลิสแตร์ เบ็กก์ครูสอนพระคัมภีร์อธิบายว่ารูปเคารพเป็น “อะไรก็ตามนอกเหนือจากพระเจ้าที่เราถือว่าจำเป็นต่อความสงบสุข ภาพลักษณ์ ความสำราญใจของเราหรือการที่ตัวเราได้รับการยอมรับ” แม้แต่สิ่งซึ่งดูว่าน่ายกย่องก็อาจกลายเป็นรูปเคารพสำหรับเราได้ เมื่อเราแสวงหาความสบายใจหรือคุณค่าในตนเองจากสิ่งอื่นที่ไม่ใช่พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ เราก็กำลังบูชารูปเคารพ

“จงกลับใจ” พระเจ้าตรัส “และหันจากรูปเคารพของเจ้าเสีย และจงหันหน้าของเจ้าเสียจากสิ่งลามกของเจ้า” (ข้อ 6) คนอิสราเอลแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถทำได้ แต่ขอบคุณพระเจ้าที่ทรงมีทางออก โดยการตั้งตารอคอยการเสด็จมาของพระคริสต์และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์ให้สัญญาว่า “เราจะให้ใจใหม่แก่เจ้าและเราจะบรรจุจิตวิญญาณใหม่ไว้ในเจ้า” (36:26) และเราไม่อาจทำสิ่งนี้ได้ด้วยตนเอง

ไม่เคยล่าช้า

ในฐานะผู้มาเยือนเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในแอฟริกาตะวันตก ศิษยาภิบาลชาวอเมริกันของฉันพยายามมาถึงตรงเวลานมัสการในวันอาทิตย์ 10.00 น. แต่ เขาพบว่าภายในห้องนมัสการที่เรียบง่ายนั้นว่างเปล่า เขาจึงรอ หนึ่งชั่วโมงสองชั่วโมง ในที่สุดราว 12:30 น. ศิษยาภิบาลท้องถิ่นก็มาถึงจากการเดินทางไกล ตามด้วยสมาชิกบางคนของคณะนักร้องและการรวมตัวกันของผู้คนในเมืองที่เป็นมิตร และ “เมื่อครบกำหนดแล้ว” การนมัสการจึงเริ่มขึ้น ตามที่ศบ. ฉันกล่าวในภายหลังว่า “พระวิญญาณทรงต้อนรับเราและพระเจ้าไม่เคยล่าช้า” เขาเข้าใจดีว่าวัฒนธรรมที่นี่ต่างออกไปด้วยเหตุผลอันเหมาะสมของตนเอง

เวลานั้นไม่ตายตัว แต่พระลักษณะที่สมบูรณ์แบบและตรงต่อเวลาของพระเจ้านั้นได้รับการยืนยันมาตลอดพระคัมภีร์ทั้งเล่ม ดังนั้นหลังจากลาซารัสป่วยและเสียชีวิต สี่วันต่อมาพระเยซูเสด็จมาถึงพร้อมกับคำถามจากพี่สาวของลาซารัส มารธาทูลพระเยซูว่า “พระองค์เจ้าข้า ถ้าพระองค์อยู่ที่นี่น้องชายของข้าพระองค์ก็คงไม่ตาย” (ยน.11:21) เราอาจคิดเหมือนกัน โดยสงสัยว่าทำไมพระเจ้าไม่รีบแก้ไขปัญหาของเรา แต่เป็นการดีกว่าที่จะรอคอยคำตอบและฤทธิ์อำนาจของพระองค์ด้วยความเชื่อ

ตามที่โฮเวิร์ด เธอร์แมนนักศาสนศาสตร์กล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดาเจ้า ข้าพระองค์จะรอ จนกว่าในที่สุดกำลังของพระองค์จะกลายเป็นกำลังของข้าพระองค์ บางสิ่งในหัวใจของพระองค์กลายเป็นหัวใจของข้าพระองค์ การอภัยของพระองค์กลายเป็นการอภัยของข้าพระองค์ ข้าพระองค์รอ โอข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์รอ” และเช่นเดียวกับลาซารัส เมื่อพระเจ้าทรงตอบ เราก็ได้รับพระพรอย่างอัศจรรย์ในที่สุดจากอะไรก็ตามที่ไม่ใช่ความล่าช้า

อิ่มบริบูรณ์

การลอบสังหารดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์อันน่ากลัว เกิดขึ้นในช่วงที่ขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองอเมริกันพุ่งถึงจุดสูงสุดในทศวรรษ 1960 แต่สี่วันต่อมาคอเร็ตต้า สก็อตต์ คิงภรรยาม่ายของท่านได้เข้ามานำแทนที่สามีอย่างกล้าหาญในการเดินขบวนประท้วงอย่างสันติ คอเร็ตต้ามีความมุ่งมั่นอย่างลึกซึ้งเรื่องความยุติธรรมและเป็นผู้ปกป้องหลักการต่างๆอย่างไม่ลดละ

พระเยซูตรัสว่า “บุคคลผู้ใดหิวกระหายความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงให้อิ่มบริบูรณ์” (มธ.5:6) เรารู้ว่าวันหนึ่งพระเจ้าจะเสด็จมาเพื่อมอบความยุติธรรมและแก้ไขความผิดทุกอย่าง แต่จนกว่าจะถึงวันนั้น เรามีโอกาสที่จะมีส่วนทำให้ความยุติธรรมของพระเจ้าเป็นจริงบนโลกเหมือนที่คอเร็ตต้าทำ อิสยาห์ 58 ให้ภาพที่เต็มไปด้วยชีวิตถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกให้คนของพระองค์ทำ คือการแก้พันธนะของความอธรรม ปลดปล่อยผู้ถูกบีบบังคับเป็นอิสระ ปันอาหารให้กับผู้หิว ให้ที่พักพิงกับคนยากจนไร้บ้าน...คลุมกาย [คนเปลือยเปล่า] และไม่ซ่อนตัว [จากคนที่ต้องการความช่วยเหลือ]” (ข้อ 6-7) การแสวงหาความยุติธรรมแก่ผู้ถูกกดขี่และผู้ที่ถูกกีดกันเป็นวิธีหนึ่งที่ชีวิตของเราจะสำแดงถึงพระเจ้า อิสยาห์บรรยายว่าคนของพระองค์ผู้ซึ่งแสวงหาความยุติธรรมเป็นเหมือนความสว่างที่พุ่งออกมาอย่างรุ่งอรุณ และพวกเขากับคนอื่นๆ จะได้รับการรักษา (ข้อ 8)

วันนี้ขอพระเจ้าทรงปลูกฝังความหิวกระหายความชอบธรรมของพระองค์ให้กับเราในโลกนี้ พระคัมภีร์กล่าวว่าเราจะได้รับความพึงใจเมื่อเราแสวงหาความยุติธรรมในทางของพระองค์และในฤทธิ์อำนาจของพระองค์

ความเศร้าโศกสู่การสรรเสริญ

โมนิก้าอธิษฐานอย่างร้อนรนให้ลูกชายของเธอกลับมาหาพระเจ้า เธอร่ำไห้กับความเอาแต่ใจของเขา และกระทั่งตามรอยเขาไปในเมืองต่างๆที่เขาเลือกจะไปอาศัยอยู่ สถานการณ์ดูเหมือนสิ้นหวัง แล้ววันนั้นก็มาถึง ลูกชายของเธอได้มีประสบการณ์พิเศษกับพระเจ้า เขาได้กลายมาเป็นหนึ่งในนักศาสนศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศาสนจักร เรารู้จักเขาในนามออกัสติน บิช็อปแห่งฮิปโป

“ข้าแต่พระเจ้า...นานสักเท่าได” (ฮบก.1:2) ผู้เผยพระวจนะฮาบากุกคร่ำครวญถึงการเพิกเฉยของพระเจ้าต่อผู้มีอำนาจที่บิดเบือนความยุติธรรม (ข้อ 4) ลองนึกถึงเวลาที่เราหันไปหาพระเจ้าด้วยความสิ้นหวัง ระบายความทุกข์ใจเนื่องจากความอยุติธรรม การรักษาอาการเจ็บไข้ที่ดูไร้ความหวัง การดิ้นรนด้านการเงินที่ไม่จบสิ้น หรือการที่ลูกๆละทิ้งพระเจ้า

แต่ละครั้งที่ฮาบากุกคร่ำครวญ พระเจ้าทรงได้ยินเสียงร้องทูลของท่าน ในขณะที่เรารอคอยด้วยความเชื่อ เราเรียนรู้จากฮาบากุกที่จะเปลี่ยนความเศร้าโศกให้เป็นการสรรเสริญได้ เพราะท่านกล่าวว่า “ถึงกระนั้นข้าพเจ้าจะร่าเริงในพระเจ้า ข้าพเจ้าจะเปรมปรีดิ์ในพระเจ้าแห่งความรอดของข้าพเจ้า” (3:18) ท่านไม่เข้าใจวิธีการของพระเจ้า แต่ท่านไว้วางใจในพระองค์ ทั้งการคร่ำครวญและการสรรเสริญเป็นการแสดงออกซึ่งความเชื่อ การแสดงออกถึงความไว้วางใจ เราคร่ำครวญร้องทูลต่อพระเจ้าตามพระลักษณะของพระองค์ และเราสรรเสริญพระเจ้าตามที่พระองค์ทรงเป็น คือเป็นพระเจ้าองค์อัศจรรย์ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ โดยพระคุณของพระเจ้าในวันหนึ่งความเศร้าโศกทั้งหลายจะกลายเป็นคำสรรเสริญ

การเริ่มต้นใหม่

“จิตสำนึกของคริสเตียนเริ่มต้นขึ้นในความตระหนักรู้อันเจ็บปวดว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นความจริงที่แท้เป็นคำโกหก” ยูจีน ปีเตอร์สันเขียนไว้ในบทสะท้อนการใคร่ครวญพระธรรมสดุดี 120 ซึ่งเป็นเพลงแรกใน “บทเพลงแห่ขึ้น” (สดด.120-134) ที่ขับร้องโดยธรรมิกชนที่กำลังเดินทางไปเยรูซาเล็ม ขณะที่ปีเตอร์สันใคร่ครวญเรื่องนี้ในหนังสือ การเชื่อฟังอันยาวนานในทิศทางเดียวกันนั้น บทเพลงสดุดีเหล่านี้ยังทำให้เราเห็นภาพของการเดินทางฝ่ายวิญญาณไปสู่พระเจ้าอีกด้วย

การเดินทางนั้นจะเริ่มต้นขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้แจ้งว่าเราต้องการบางสิ่งที่ต่างออกไป ดังเช่นที่ปีเตอร์สันเขียนไว้ว่า “คนจะต้องเอือมระอาอย่างถึงที่สุดกับสิ่งเดิมๆเพื่อจะมีแรงจูงใจให้ออกเดินในทางของคริสเตียน...(คน)ต้องเบื่อหน่ายกับวิถีของโลกก่อนที่เขาจะมีความหิวกระหายโลกแห่งพระคุณ”

เป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกสิ้นหวังกับความแตกสลายและความสิ้นหวังที่เราเห็นในโลกรอบตัว ด้วยวัฒนธรรมที่กำลังแพร่หลายที่ไม่ยินดียินร้ายกับอันตรายที่เกิดกับผู้อื่น สดุดี 120 คร่ำครวญในเรื่องนี้อย่างเปิดเผยว่า “ข้าพเจ้าชอบศานติแต่เมื่อข้าพเจ้าพูด เขาหนุนสงคราม​” (ข้อ 7)

แต่ยังมีการเยียวยารักษาและเสรีภาพเมื่อเราตระหนักรู้ว่า ความเจ็บปวดของเราสามารถปลุกเราขึ้นสู่การเริ่มต้นใหม่โดยความช่วยเหลือเดียวของเราคือองค์พระผู้ช่วยให้รอด ผู้ทรงสามารถนำเราออกจากคำโกหกที่บ่อนทำลายไปสู่เส้นทางแห่งสันติสุขและความบริบูรณ์ (121:2) ในขณะที่เราก้าวเข้าสู่ปีใหม่นี้ขอให้เราแสวงหาพระองค์และหนทางของพระองค์

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา